ช่วงหลังมานี้ ผมเริ่มได้มีโอกาสไปนำเสนอ หรือไปสอนบรรยายมากขึ้น จึงเริ่มหาหนังสือที่สอนเกี่ยวกับการพูดบรรยาย ไปเดินร้านหนังสือแล้วเล่มนี้บนชั้นแนะนำเลยรีบคว้ามาอ่านจนหมดรวดเดียวเลย
หนังสือเล่มนี้จะสอนและแชร์วิธีการนำเสนอของเหล่ากูรูในเวที TED ตกผลึกมาเป็นเคล็ดลับให้พวกเราได้นำไปทดลองใช้ได้เลย
หลังอ่านจบแล้ว ผมลองทบทวนกับตัวเองว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้วิธีนำเสนอที่หนังสือเล่มนี้บอกบ้างรึเปล่า ปรากฎว่ามีหลายข้อเหมือนกันที่เราทำโดยไม่รู้ตัว เนื้อหาในเล่มหนังสือนี้ดีมากจนถึงขั้นอยากเขียนรีวิวและสรุปหัวข้อที่น่านำไปรับใช้
เพื่อนๆ คนไหนดูแล้วสนใจ ไปลองซื้อมาอ่านกันนะครับ
1. แชร์เรื่องที่เราหลงใหล
ถ้าเราอยากจะบรรยาย หรือนำเสนองานให้คนอื่นอินกับเรา หรือเกิดแรงบันดาลใจจากเรา เราควรจะอินกับเรื่องนั้นก่อน ผู้ฟังถึงจะรู้สึกหรือสัมผัสอารมณ์ที่เราถ่ายทอดออกไปได้
ในหนังสือเล่มนี้ใช้คำว่าหลงใหล ในมุมของผมก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราสนใจมาก โดยอาจเกิดจากความชอบ หรือการทำซ้ำ การศึกษาอย่างต่อเนื่อง
การบรรยายหรือนำเสนอเรื่องที่เราหลงใหล เรื่องราวที่เล่า สไลด์ที่ใช้ และวิธีถ่ายทอดของเราจะมีชีวิตชีวามากขึ้น เราจะมั่นใจในการแบ่งปันมากขึ้น
2. เล่าเรื่องราว
เรื่องราวสามารถเชื่อมโยงผู้ฟังและผู้พูดกันได้มากขึ้น เรื่องราวที่มีพลังจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังได้
เรื่องราว 3 ประเภทที่นำไปใช้และได้ผล
⁃ เรื่องส่วนตัว (นิยมมากที่สุดใน TED)
⁃ เรื่องคนอื่น
⁃ เรื่องความสำเร็จขอบแบรนด์ (อาจจะงานของเราก็ได้)
โดยรูปแบบการเล่าเรื่องราวยอดนิยมที่ประสบความสำเร็จ และใช้ได้ตลอดมา คือ เรื่องราวที่ใครบางคนที่ดำเนินชีวิตมาปกติแล้วมาเจอปัญหาหรืออุปสรรคแต่สุดท้ายสามารถจบเรื่องแบบสมหวังมีความสุขได้ (ให้ผู้ฟังได้มีตัวละครไว้เอาใจช่วยสักหนึ่งตัว)
3. ใช้มือออกท่าทาง
แนะนำ 4 ข้อที่นำไปปรับใช้ได้ทันที
⁃ ใชมือออกท่าท่าง อย่ากลัวที่จะใช้มือ
⁃ ใช้มือออกท่าท่างเป็นระยะ ไม่ควรใช้มากเกินไป พยายามใช้ให้เป็นธรรมชาติ
⁃ ใช้มือออกท่าทางในช่วงเวลาสำคัญ ใช้ท่าที่มีความหมายช่วยสื่อสารที่สำคัญ
⁃ ควบคุมท่าทางในวงอำนาจ คือระดับท่าทางที่เริ่มต้นจากดวงตาโค้งออกไปถึงปลายนิ้วมือที่เหยียดออก และโค้งลงไปถึงสะดือ พยายามให้ท่าทางหรือการมองอยู่ในระดับนี้ จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกเชื่อมั่นมากขึ้น
4. สมองรักอารมณ์ขัน
อารมณ์ขันหากใช้อย่างมีทักษะจะช่วยการถ่ายทอดเรื่องที่ยากได้ดีขึ้น ช่วยทำให้ผู้ฟังเปิดรับมากขึ้น
โดยเราไม่จำเป็นต้องคนตลกเพื่อให้มีอารมณ์ขัน (ผมก็ไม่ใช่ 🙂) 5 วิธีเพิ่มอารมณ์ขันในปริมาณที่เหมาสม
⁃ เกร็ดสาระ ข้อสังเกต และเรื่องเล่าส่วนตัว
⁃ การเปรียบเทียบ หรืออุปมา
⁃ การยกคำพูดคนอื่น
⁃ วิดิโอ
⁃ ภาพ
เราไม่จำเป็นต้องเรียกเสียงหัวเราะตลอดเวลา แค่เรียกรอยยิ้มบางก็พอแล้ว การสร้างอารมณ์ขันเป็นเรื่องที่ต้องฝึกต้องทดลองไปเรื่อยๆ ถ้าอันไหนได้ผลดีก็เก็บไปพัฒนาต่อไป
5. ยึดมั่นในกฎ 18 นาที
การฟังทำให้เหนื่อยได้เหมือนกัน การพูดนานหรือมีข้อมูลมากเกินไปจะทำให้ส่งต่อความคิดไม่สำเร็จ และการลดเวลานำเสนอเหลือ 18 นาทีทำให้ผู้พูดเหลือแต่ประเด็นสำคัญจริงๆ เท่านั้น
โครงสร้าง 3 เรื่องที่อาจช่วยให้เรานำเสนอในเวลาแค่ 15 วินาที ถึง 18 นาที
-พาดหัวเรื่องที่เหมาะสำหรับทวิตเตอร์ หัวเรื่องที่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด ที่ต้องเหมาะสำหรับทวิตเตอร์เพื่อให้หัวข้อกระชับและตรงจุดมากที่สุดใน 140 ตัวอักษร
-หาเนื้อหาหลัก 3 ข้อมาสนับสนุนหัวพาดหัว สมองมนุษย์สามารถรับข้อมูลได้แค่ 3 ก้อนในความทรงจำระยะสั้น
-เสริมเนื้อหาทั้ง 3 ด้วยเรื่องเล่า สถิติและตัวอย่าง เติมหัวย่อยที่สนับสนุนทั้ง 3 เนื้อหาหลัก
6. ใช้ภาพเล่าเรื่องราว
การใช้ภาพแทนข้อความทุกครั้งที่ทำได้ ผู้ชมมีแนวโน้มจะจดข้อมูลที่ถ่ายทอดผ่านส่วนผสมจากภาพและข้อความมากกว่าข้อความอย่างเดียว
คือสิ่งที่ตามองเห็นมีความสำคัญมาก หากคุณได้ฟังข้อมูล ก็มีแนวโน้มจะจำได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์หลังจากผ่านไปสามวัน แต่ถ้าเพิ่มภาพก็จะทำให้อัตราการจดจำเพิ่มเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ หากนำภาพไปใส่ในบริบทก็จะช่วยให้คุณจำข้อมูลได้มากกว่าการฟังคำพูดอย่างเดียวถึง 6 เท่า
ข้อนี้ผมเห็นด้วยมากๆ ตั้งแต่ที่ทุกท่านเจอโพสนี้ ผมกำลังใช้รูปเล่าเรื่องราวอยู่นะครับ 🙂
7. ให้เวลากับมัน
ค่อยๆ ฝึกการสื่อสารทุกครั้งที่มีโอกาส การทำซ้ำจะช่วยสมองเรามีพื้นที่ว่างสำหรับการเล่าเรื่องในแบบที่น่าสนใจ สร้างสรรค์ และเป็นแบบฉบับของตัวเองมากขึ้น
อาจจะลองฝึกกับกลุ่มผู้ฟังใกล้ เช่น เพื่อน เพื่อนร่วมงาน แฟนหรือภรรยา เพราะจะทำให้เราแสดงความเป็นตัวเองออกมา
เอาช่วยทุกท่านที่กำลังฝึกการนำเสนอนะครับ 🙂